งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองที่จะช่วยให้ผู้จัดการโซ่อุปทานกำหนดค่าน้ำหนักความสำคัญของมาตรวัดสมรรถนะและกระบวนการหลักของโซ่อุปทาน โดยบูรณาการแบบจำลองอ้างอิงการดำเนินการโซ่อุปทาน (SCOR) ในระดับที่ 1 เข้ากับกระบวนการตัดสินใจแบบวิเคราะห์ลำดับชั้น (AHP) เพื่อจัดลำดับความสำคัญของมาตรวัดและกระบวนการหลักของโซ่อุปทาน งานวิจัยนี้ เก็บข้อมูลจากกรณีศึกษาเพื่อแสดงความสามารถในการใช้งานของแบบจำลองที่เสนอ เก็บรวบรวมข้อมูลดุลยพินิจที่เกี่ยวข้องจากผู้ประเมิน และนำมาดำเนินการโดยวิธี AHP ใช้ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตเพื่อรวมดุลยพินิจของผู้ประเมินเข้าเป็นดุลยพินิจของกลุ่ม และใช้การวิเคราะห์ความไวเพื่อตรวจสอบความทนทานของกระบวนการสำคัญ กรณีศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่เสนอ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดลำดับความสำคัญของมาตรวัดและกระบวนการหลักของโซ่อุปทานได้ การวิจัยนี้ พบว่าผลการรวมดุลยพินิจของผู้ประเมินโดยวิธีค่าเฉลี่ยเรขาคณิต อาจไม่สอดคล้องกับผลการสังเคราะห์ของดุลยพินิจของผู้ประเมินแต่ละรายโดยทั่วไป ดังนั้น งานวิจัยและการประยุกต์ใช้แบบจำลองนี้ในอนาคตจึงอาจจะใช้วิธีการรวมดุลยพินิจในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ แทนการใช้วิธีรวมดุลยพินิจโดยวิธีค่าเฉลี่ยเรขาคณิต เช่น การอภิปรายเพื่อให้ได้เสียงเอกฉันท์ หรือการลงมติของกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างของดุลยพินิจ แบบจำลองที่เสนอจึงช่วยให้ผู้จัดการโซ่อุปทานสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ มาตรวัด และกระบวนการหลัก เพื่อให้ความสำคัญกับกระบวนการหลักและมาตรวัดที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกลยุทธ์โดยรวมของโซ่อุปทาน
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการทำงานในองค์กร (Work Context Determinants) ที่ส่งเสริมพฤติกรรมสร้างสรรค์ของบุคลากร โดยมุ่งศึกษาถึงอิทธิพลส่งผ่าน (Mediating Effect) ของพฤติกรรมความกล้าเสี่ยง กล้าปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำแนวคิดต่างๆ มาเรียนรู้และปฏิบัติจริง และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจากบุคลากรจากองค์กรต่างๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรบริหารธุรกิจหรือการจัดการในระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัย 5 แห่ง จำนวน 289 คน ผลการวิจัยพบว่าความกล้าเสี่ยง กล้าปฏิบัติเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมสร้างสรรค์ของบุคลากรในองค์กร นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกสนุกกับงาน ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมสร้างสรรค์ด้วย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าคุณลักษณะทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคล เช่น ความรู้สึกสนุกกับงานและความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงมีส่วนช่วยผลักดันให้บุคลากรริเริ่มลงมือปฏิบัติ กล้าเสี่ยง ลองผิดลองถูก ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดพฤติกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่องในท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าผลของการลงมือทำนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม
คุณภาพของแบบสอบถามออนไลน์ มักขึ้นกับ (1) ทัศนคติของหน่วยตัวอย่างต่อแบบสอบถาม หรือ (2) ระยะเวลาที่ใช้ตอบแบบสอบถาม วรรณกรรมในอดีตทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้แนะนำว่า แบบสอบถามออนไลน์ควรอนุญาตให้หน่วยตัวอย่างสามารถปรับรายละเอียดของการนำเสนอได้ตามชอบหรือกระทั่งอนุญาตให้นักวิจัยเพิ่มกราฟฟิกเพื่อสื่อความหมายของข้อถามให้ชัดเจนขึ้น การใช้ความสามารถเหล่านี้มีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามออนไลน์ แต่ทั้งนี้ยังไม่พบงานเชิงประจักษ์ที่ช่วยยืนยันคำแนะนำข้างต้น การศึกษานี้จึงต้องการวิเคราะห์ผลกระทบของความสามารถปรับเปลี่ยนการนำเสนอและการใช้กราฟฟิกในแบบสอบถามออนไลน์ต่อ (1) ทัศนคติต่อแบบสอบถาม และ (2) ระยะเวลาที่ใช้ตอบแบบสอบถาม ในที่นี้การนำเสนอที่สามารถปรับเปลี่ยนได้คือ การที่หน่วยตัวอย่างสามารถปรับเปลี่ยนขนาดอักษรหรือสีพื้นหลังของแบบสอบถามออนไลน์ได้ ผลการศึกษานี้ที่มาจากการทดลองในสภาพจริงอันเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย พบ (1) ความสามารถปรับเปลี่ยนการนำเสนอแบบสอบถาม มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อระยะเวลาตอบแบบสอบถาม และ (2) การใช้กราฟิก มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทัศนคติต่อแบบสอบถามออนไลน์ โดยผลกระทบในอีกสองลักษณะไม่มีนัยสำคัญ ทว่า (3) ปฏิสัมพันธ์ของความสามารถปรับเปลี่ยนการนำเสนอแบบสอบถามกับการใช้กราฟิก ต่อทั้งสองตัวแปรไม่มีนัยสำคัญ นอกจากช่วยต่อยอดองค์ความรู้ของการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศกับวิธีวิทยาการวิจัยในบริบทแบบสอบถามออนไลน์แล้ว ข้อค้นพบยังช่วยให้นักสถิติวิจัยและผู้ให้บริการเก็บข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถปรับปรุงคุณลักษณะของแบบสอบถามออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสการได้ข้อมูลการวิจัยที่มีคุณภาพมากขึ้น
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจย้ายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการพยากรณ์ส่วนแบ่งตลาดของการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายหลังการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 292 คนในเขตกรุงเทพมหานครพบว่า กลุ่มที่ไม่ต้องการย้ายเครือข่ายให้ความสำคัญในปัจจัยด้านต้นทุนในการย้ายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่ากลุ่มที่ต้องการย้ายเครือข่าย สำหรับผู้ที่ต้องการย้ายเครือข่ายพบว่า ต้องการย้ายไปใช้บริการผู้ให้บริการ A มากที่สุด ทำให้แนวโน้มของส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ A มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการ B และ ผู้ให้บริการ C มีแนวโน้มลดลง
โครงงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงระดับความคาดหวังของชาวญี่ปุ่น และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความคาดหวังของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อคุณภาพบริการของร้านอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเขตคันโต 170 คนและเขตคันไซ 170 คนที่มีอายุมากกว่า 20 ปี และเป็นผู้ที่เคยรับประทานอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคาดหวังในแต่ละปัจจัยการให้บริการแตกต่างกัน โดยให้ระดับคะแนนเฉลี่ยความคาดหวังคุณภาพบริการในด้านความเชื่อถือไว้วางใจ (Reliability) มากที่สุด รองลงมาคือการตอบสนองต่อลูกค้า (Responsiveness) การให้ความเชื่อมั่นต่อลูกค้า (Assurance) ความเป็นรูปธรรมของบริการ (Tangibility) และการรู้จักและเข้าใจลูกค้า (Empathy) ตามลำดับ ในส่วนของการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และประสบการณ์ตรงที่มีต่อประเทศไทยกับระดับความคาดหวังคุณภาพบริการของร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นพบว่ามีเพียงรายได้และวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประเทศไทยเท่านั้นที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีระดับความคาดหวังคุณภาพการบริการที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05