ปัจจุบันธุรกิจจำนวนมากใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายโดยการให้สิทธิกับลูกค้าพร้อมกับการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งสิทธิส่วนใหญ่อยู่ในรูปของคะแนนสะสมที่ลูกค้าสามารถนำมาแลกรางวัลหรือใช้บริการฟรี หรือใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการในอนาคต การปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผ่านมา คือ จะรับรู้มูลค่าขายสินค้าหรือบริการเริ่มแรกเป็นรายได้ทั้งจำนวน ณ วันที่ขาย และรับรู้ประมาณการต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดจากการจัดหารางวัลให้ลูกค้าเป็นค่าใช้จ่ายของงวดที่ขาย ขณะนี้สภาวิชาชีพบัญชีได้จัดทำ ?ร่างการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 เรื่อง โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า? เพื่อให้ธุรกิจที่มีการให้คะแนนสะสมพร้อมกับการขายสินค้าหรือให้บริการใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อพัฒนาการบัญชีของไทยให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ แนวปฏิบัติตามร่างการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ ให้รับรู้คะแนนสะสมที่ให้กับลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของการขาย ดังนั้นจะต้องปันส่วนมูลค่าสิ่งตอบแทนที่พึงได้รับ ณ วันขายเริ่มแรกให้กับคะแนนสะสมตามเกณฑ์มูลค่ายุติธรรม โดยบันทึกมูลค่าของคะแนนสะสมที่รับการปันส่วนเป็นรายได้รับล่วงหน้า หรือรายได้รอการตัดบัญชี และทยอยรับรู้เป็นรายได้เมื่อลูกค้านำคะแนนสะสมมาใช้สิทธิ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อธุรกิจจำนวนมากที่ใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายในลักษณะดังกล่าว คือ นอกจากจะต้องเปลี่ยนนโยบายการบัญชีในเรื่องการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้กำไรของกิจการ คือ จะต้องเลื่อนการรับรู้กำไรที่เกิดจากคะแนนสะสมออกไปแล้ว ปัญหาสำคัญของการปฏิบัติตามการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ คือ การกำหนดมูลค่ายุติธรรมของคะแนนสะสม ซึ่งได้ให้ความหมายของมูลค่ายุติธรรมไว้อย่างกว้างๆว่า ?จำนวนเงินที่ได้รับเมื่อนำคะแนนสะสมไปขายแยกต่างหาก? อย่างไรก็ตามภาคผนวกของการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ได้เสนอแนวทางปฏิบัติในการวัดมูลค่ายุติธรรมของคะแนนสะสมไว้นอกจากนั้นกิจการต้องจัดเก็บข้อมูลสถิติต่างๆเกี่ยวกับจำนวนคะแนนสะสมที่ให้ทั้งหมด อัตราการนำคะแนนสะสมมาใช้สิทธิ เพื่อนำสถิติดังกล่าวมากำหนดอัตราที่คาดว่าลูกค้าจะนำคะแนนสะสมมาใช้สิทธิ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมพอสมควรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ คาดว่าขณะนี้กิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คงมีการจัดเตรียมข้อมูลในส่วนนี้แล้ว อย่างไรก็ตามกิจการที่มีการจัดโปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้าอยู่ประจำและมีสินค้าหรือบริการหลากหลาย รวมทั้งการใช้สิทธิมีหลายแบบให้เลือก เช่น บริษัทสายการบินต่างๆ ห้างสรรพสินค้า กิจการสะดวกซื้อ ฯลฯ อาจต้องมีการจัดทำตัวแบบการกำหนดราคาขาย ของสินค้าหรือบริการ โดยคำนึงถึงตัวแปรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลค่ายุติธรรมต่อคะแนนสะสมที่ให้ จำนวนคะแนนสะสมที่คาดว่าจะให้ทั้งหมด อัตราที่คาดว่าลูกค้าจะใช้สิทธิ และอัตราการใช้สิทธิของลูกค้า เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติตามการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวเมื่อสภาวิชาชีพบัญชีมีการประกาศใช้
การเปิดตลาดแรงงานด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุญี่ปุ่นตามข้อตกลงในการเจรจาการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (ผู้ให้บริการเป็นตัวบุคคล) สาขาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไปทำงานในสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุภายใต้การกำกับของรัฐในประเทศญี่ปุ่นในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับนั้นนับว่าเป็นความพยายามเบื้องต้นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยก็มีความพร้อมและมีความสนใจที่จะเจรจาในสาขานี้เช่นกันแต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในขณะนี้ โดยกำหนดให้มีการเจรจาอีกครั้งภายในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและทบทวนวรรณกรรม เกี่ยวกับโครงสร้างตลาดการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นและกรณีศึกษาของแรงงานฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นแล้ว โดยเน้นข้อมูลพื้นฐานและวรรณกรรมที่เผยแพร่โดยรัฐบาลญี่ปุ่น นักวิชาการ และสื่อมวลชน รวมถึงความคิดเห็นของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังมีการเผยแพร่อย่างจำกัดในประเทศไทย คณะผู้เขียนคาดว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อเจรจาและการเตรียมความพร้อมในกรณีการส่งแรงงานของไทยต่อไป
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบสรุปบทวิจารณ์สินค้าภาษาไทยโดยผู้บริโภคแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะสรุปบทวิจารณ์ของผู้บริโภคที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้บนเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะสรุปคุณลักษณะของสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและทิศทางความเห็นที่ผู้บริโภคมีต่อคุณลักษณะนั้น ๆ ของสินค้า ว่าเป็นความคิดเห็นในเชิงบวกหรือเชิงลบ ในงานวิจัยนี้ได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดคำ การกำหนดหน้าที่ของคำ การสร้างและกำหนดทิศทางในรายการคำแสดงความคิดเห็นต้นกำเนิด การแยกคำแสดงคุณลักษณะของสินค้า และการระบุทิศทางของคำแสดงคุณลักษณะ มาเป็นส่วนประกอบของระบบสรุปบทวิจารณ์สินค้า รวมถึงศึกษาค่าคงที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบทวิจารณ์สินค้าภาษาไทย ในการทดลอง ผู้วิจัยใช้ข้อมูลบทวิจารณ์สินค้าประเภทเครื่องสำอาง 4 ชนิดจากเว็บไซต์จีบัน (www.jeban.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าเครื่องสำอางและเปรียบเทียบผลสรุปบทวิจารณ์สินค้าที่ได้จากระบบกับผลสรุปบทวิจารณ์ชุดเดียวกันจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด 3 ท่าน ผลปรากฏว่าระบบต้นแบบมีความแม่นยำในการระบุคุณลักษณะและทิศทางของความคิดเห็นในระดับพอใช้ โดยผู้วิจัยได้เสนอแนะเกี่ยวกับบริบทที่เหมาะสมสำหรับการนำระบบต้นแบบไปประยุกต์ใช้งาน
จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ความนิยมของอินเทอร์เน็ตได้ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้สำหรับการสื่อสารข้อมูลและโฆษณาจากผู้ขายบนอินเทอร์เน็ตไปสู่ลูกค้าของธุรกิจ ข้อได้เปรียบที่สำคัญของการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต ก็คือความสามารถในการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าจำนวนมากทั่วโลก แบนเนอร์โฆษณาคือรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งด้านคอมพิวเตอร์กราฟิค และสื่อมัลติมีเดีย ทำให้แบนเนอร์โฆษณาได้รับการพัฒนาให้สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้มากขึ้น งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของรูปแบบแบนเนอร์โฆษณาแบบมีปฏิสัมพันธ์ 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) แบบภาพยนตร์สั้น (2) แบบขยายได้ (3) แบบลอยที่หน้าเว็บไซต์ และ (4) แบบคั่นรายการที่มีต่อตัวแปรตาม 4 ตัว ได้แก่ (1) การรับรู้ตราสินค้า (2) ความรู้เกี่ยวกับสินค้า (3) ความรู้สึกรำคาญของผู้เข้าชมเว็บไซต์ และ (4) จำนวนคลิกบนแบนเนอร์ โดยมีตัวแปรขยายหรือตัวแปรที่ส่งผลร่วมกับตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษาคือ 2 ตัว คือ (1) ความสอดคล้องของเนื้อหาบนแบนเนอร์กับเนื้อหาของเว็บไซต์ที่แสดง และ (2) ลักษณะการยอมรับแนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆของแต่ละบุคคล ข้อมูลถูกเก็บรวบรวมจากหน่วยตัวอย่างจำนวน 392 คน โดยให้หน่วยตัวอย่างเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น และตอบแบบสอบถาม การทดสอบสมมติฐานยืนยันว่า รูปแบบแบนเนอร์โฆษณามีผลกระทบต่อการรับรู้ตราสินค้า ความรู้เกี่ยวกับสินค้า ความรำคาญ และจำนวนคลิกบนแบนเนอร์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลกระทบนี้จะมีความชัดเจน เมื่อเนื้อหาของแบนเนอร์โฆษณาไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ และเมื่อผู้บริโภคมีลักษณะการยอมรับแนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆในระดับต่ำ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทไทยในการลงทุนทางตรงในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย (เรียกโดยย่อว่ารัสเซีย) และศึกษาถึงรูปแบบการลงทุนของบริษัทไทยในรัสเซียและสาเหตุของการเลือกรูปแบบดังกล่าว โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้บริหารบริษัทผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสุกร บริษัทผลิตเครื่องสำอาง และนักธุรกิจไทยที่กำลังจะเปิดร้านอาหารไทย ณ กรุงมอสโก และจากเอกสาร หลักฐาน และการสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าการลงทุนของบริษัทไทยในรัสเซียสอดคล้องกับทฤษฎีการลงทุนทางตรงต่างประเทศอย่างสมบูรณ์ (Eclectic Paradigm หรือที่นิยมเรียกว่า OLI Paradigm) ของจอห์น เอช ดันนิ่ง (John H. Dunning) ที่กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการลงทุนทางตรงต่างประเทศเกิดจากข้อได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์บางประการ ข้อได้เปรียบจากแหล่งที่ตั้ง และข้อได้เปรียบจากการทำภายในบริษัทเอง เหตุผลหลักในการไปลงทุนของธุรกิจไทยในรัสเซียมีดังนี้ 1) เพื่อใช้ประโยชน์จากการมีความได้เปรียบเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและความชำนาญด้านการผลิต การจัดการ 2) เพื่อใช้ประโยชน์จากขนาดหรือศักยภาพของตลาด 3) เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบอันเป็นปัจจัยการผลิต 4) เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 5) เพื่อสร้างกลยุทธ์ความได้เปรียบคู่แข่งด้านราคา และ 6) เพื่อหลีกเลี่ยงการรั่วไหลของความรู้ที่เป็นข้อได้เปรียบสำคัญของบริษัท ทั้งนี้สาเหตุในการลงทุนส่วนใหญ่คือเพื่อเป็นการแสวงหาตลาด ซึ่งพบว่ามีการเลือกรูปแบบการเป็นเจ้าของเองทั้งหมดในบริษัทที่มีการผลิต เพื่อคงอำนาจในการตัดสินใจและการควบคุม และการเลือกรูปแบบการลงทุนร่วมในธุรกิจบริการเพื่อใช้ประโยชน์จากความสามารถของหุ้นส่วน การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ Linkage - Leverage-Learning Model (LLL Model) ของจอห์น เอ แม็ททิว (John A. Mathew) วิเคราะห์การลงทุนดังกล่าวพบว่าในกรณีของร้านอาหารไทยนั้นสามารถอธิบายด้วย LLL Model ได้ชัดเจนกว่า OLI Paradigm