การทุจริตเป็นปัญหาสำคัญในองค์กรธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะการทุจริตของพนักงานในองค์กร เป็นประเด็นที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากบุคลากรเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์กรในการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท หากพนักงานกระทำการทุจริต จะส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการทุจริตของพนักงาน ควรศึกษาหาสาเหตุที่ทำให้พนักงานกระทำการทุจริต เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น จากการทบทวนวรรณกรรมและการทำวิจัย ผู้เขียนได้ทราบถึงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการทุจริตของพนักงานในองค์กร เช่น การใช้จ่ายเงินเกินฐานะ การมีปัญหาทางการเงิน การมีความกดดันจากปัญหาในครอบครัว การเล่นการพนัน การติดยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้น การป้องกันการทุจริตในเบื้องต้น ควรแก้ไขที่ความคิดและพฤติกรรมของพนักงาน ผู้เขียนขอเสนอให้ผู้บริหารขององค์กรสร้างวัฒนธรรมองค์กรในประเด็นของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ในการครองตน อันได้แก่ ฆราวาสธรรม 4 และอิทธิบาท 4 เพื่อให้พนักงานใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งน่าจะทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและส่งผลให้การทุจริตในองค์กรลดน้อยลง
ISQC1 กลายเป็นประเด็นน่าสนใจในประเทศไทยในระยะนี้เนื่องจากมาตรฐานฉบับนี้มีผลกระทบกับการควบคุมคุณภาพในระดับสำนักงานสอบบัญชี นอกเหนือจากระดับงานสอบบัญชีที่กำหนดโดยมาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 220 มาตรฐานดังกล่าวกำหนดไว้ 7 ประเด็นสำคัญได้แก่ ความรับผิดชอบของผู้นำ ข้อกำหนดจรรยาบรรณ การตอบรับและดำรงไว้ซึ่งความต่อเนื่องของลูกค้า ทรัพยากรบุคคล ผลการปฏิบัติงาน การติดตามผลและการจัดการเอกสารหลักฐาน ความเข้าใจในการนำไปปฏิบัติยังมีความแตกต่างหลากหลายโดยเฉพาะกับสำนักงานขนาดกลางและขนาดเล็ก การประเมินผลลัพธ์จากการปฏิบัติตามมาตรฐานก็ยังไม่มีคำตอบ การบังคับใช้ที่ยังไม่ชัดเจนมีจุดเริ่มต้นจากคำถามที่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแลตามมาตรฐานฉบับนี้ และตามมาด้วยประเด็นถัดมาคือสำนักงานสอบบัญชีทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานฉบับนี้หรือไม่
บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อสังเคราะห์ แนวคิด หลักการ ในมุมมองทางวิชาการ เกี่ยวข้องกับเรื่อง นิยามกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระบวนการวางแผนกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ กลยุทธ์ธุรกิจ แนวคิดเรื่องระดับกลยุทธ์ขององค์การธุรกิจ กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ การใช้กลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนกลยุทธ์ธุรกิจ ความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศกับกลยุทธ์ธุรกิจ ประสิทธิผลการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อให้มีการนำแนวคิดนี้ไปใช้งานทางปฏิบัติ จึงได้นำเสนอตัวแบบความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศกับกลยุทธ์ธุรกิจและประสิทธิผลการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและผู้บริหารธุรกิจ ได้นำไปปรับใช้ในการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์การธุรกิจ
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษามาตรวัดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product performance measurement) และเกณฑ์การกลั่นกรองแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product ideas screening criteria) ที่ใช้ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของสินค้าอุปโภคบริโภค (New consumer product development: NCPD) เนื่องจากงานวิจัยที่ผ่านมาของนักวิชาการมุ่งเน้นศึกษาเฉพาะกรณีประเภทสินค้าอุตสาหกรรม (Industrial product) ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product) งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed methods research) มีการทำการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยการใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) วัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรวัดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product performance measurement) และเกณฑ์การกลั่นกรองแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product idea screening criteria) ที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทย (Thai?s consumer industries) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth interviews) ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product managers) ในบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product companies) ผลจากการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer satisfaction) กำไรสุทธิ (Net profit margin) และยอดขาย (Volume of sale) เป็นสามตัวชี้วัดหลักที่ใช้ในการวัดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทย (Thai?s consumer industries) ในขณะที่เกณฑ์การกลั่นกรองแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product ideas screening criteria) ที่สำคัญในการกลั่นกรองแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่สามลำดับแรก คือ เกณฑ์ทางด้านความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ (Strategic fit criteria) เกณฑ์ทางด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Product and Packaging criteria) และเกณฑ์ทางด้านการราคา (Pricing criteria) เนื่องจากงานวิจัยที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาตรวัดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ใหม่และเกณฑ์การกลั่นกรองแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่มุ่งเน้นศึกษาเฉพาะสินค้าประเภทอุตสาหกรรม (Industrial product) คุณค่าทางวิชาการของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ มุ่งเน้นการศึกษาในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่สร้างมูลค่ามหาศาลสำหรับเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของประเทศไทย
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงผลักดันทางการตลาดหลายด้านที่กดดันให้องค์กรต่างๆ พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้รับจากโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ในบทความนี้กล่าวถึงแนวโน้มไอซีที 6 ประการที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในเทคโนโลยีขององค์กร ได้แก่ 1) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในต้นทุนรวมของการลงทุนในสาธารณูปโภคด้านไอซีที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การเติบโตอย่างรวดเร็ว ฤดูกาล และการเกิดความต้องการที่ไม่ได้คาดหมาย เป็นต้น 2) นวัตกรรมเพื่อการเติบโต (Innovation for Growth) เป็นแรงผลักดันทางธุรกิจที่มีอำนาจสูง ซึ่งองค์กรต้องสามารถแยกความแตกต่างได้ว่า นวัตกรรมไอซีทีชนิดใดสามารถทำให้องค์กรก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ 3) ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) เป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เกิดการผสมผสานข้อมูลต่างๆ ในองค์กรให้เกิดความจริงที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในกลยุทธ์องค์กรและการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ 4) การบริโภคเทคโนโลยีไอที (Consumerization of IT) ทำให้เกิดการคาดหวังในแผนกไอทีที่สูงขึ้น และขยายความต้องการในโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือต่างๆ ในการวางกลยุทธ์ 5) การมีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติ (Natural User Interfaces) คือ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและเทคโนโลยี และมีการขยายวงกว้างขึ้น อันเกิดจากความก้าวหน้าของนวัตกรรม สุดท้ายคือ 6) การบริการผ่านเครือข่ายทางสังคม (Social Network Service) ซึ่งทำให้เกิดกระแสของการปรับเปลี่ยนการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งในสังคมและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งความสามารถของนักโฆษณาและผู้จัดหางานในการสื่อสารกับผู้บริโภคอีกหลายล้านคน