บุคลิกภาพประเทศเป็นแนวคิดที่ประยุกต์มาจากแนวคิดบุคลิกภาพแบรนด์สินค้า โดยเป็นการนำลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์มาใช้ในการอธิบายถึงภาพลักษณ์ของประเทศ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างมาตรวัดบุคลิกภาพประเทศ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จำนวน 863 ราย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันสำหรับการสร้างมาตรวัดบุคลิกภาพประเทศ ผลการวิจัยแสดงมาตรวัดบุคลิกภาพประเทศที่ประกอบด้วย 3 มิติ และมีจำนวนบุคลิกภาพทั้งหมด 24 บุคลิกภาพ ได้แก่ มิติที่ 1 ความน่าเชื่อถือ มี 9 บุคลิกภาพ คือ ยืดหยุ่น/ปรับตัวได้ ซื่อสัตย์ เรียบร้อย/เป็นระเบียบ มีระเบียบ/มีวินัย สงบ/มีสันติภาพ ละเอียดลออ/ถี่ถ้วน น่าเคารพ/น่านับถือ มั่นคง/ปลอดภัย และอดทน/ใจกว้าง มิติที่ 2 ความที่มีเสน่ห์ มี 7 บุคลิกภาพ คือ สนุกสนานร่าเริง เก๋/ทันสมัย ฉลาด/หลักแหลม ร่วมสมัย ยอดเยี่ยม/เท่ห์ สร้างสรรค์ และพัฒนา/ก้าวหน้า และมิติที่ 3 ความไม่ดึงดูดใจ มี 8 บุคลิกภาพ คือ ไม่สุภาพ/ไร้มารยาท ไม่จริงใจ ไม่ดึงดูดใจ/ไม่มีเสน่ห์ ด้อยพัฒนา/ไม่เจริญ ไม่มีความรู้/ไม่ได้รับการศึกษา ไม่เป็นมิตร ไม่เร่งรีบ/ไม่รีบร้อน และไม่มั่นคง/ไม่แน่นอน มาตรวัดบุคลิกภาพประเทศดังกล่าวนี้มีความตรงเชิงคล้อยตาม ความตรงเชิงจำแนก และความน่าเชื่อถือในระดับสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวัดบุคลิกภาพของประเทศ โดยหากพบว่ามีบุคลิกภาพประเทศในด้านที่ดีก็ควรดำรงรักษาให้มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อไป แต่หากพบว่ามีบุคลิกภาพประเทศในทางด้านลบก็ควรปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศดังกล่าวสามารถวางตำแหน่งไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีขั้นตอนบางขั้นตอนในการศึกษาที่ยังเป็นข้อจำกัดของงานวิจัย แต่สามารถปรับปรุงสำหรับงานวิจัยในอนาคตได้ เช่น ขั้นตอนของการพิจารณาเลือกคำคุณศัพท์ ควรพิจารณาการหาหลักเกณฑ์การคัดเลือกประเทศที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น หรือในขั้นตอนการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่นักวิจัยอาจเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างได้เลือกหรือเสนอประเทศที่ตนมีความคุ้นเคย เพื่อให้ได้มาซึ่งคำคุณศัพท์ที่แสดงลักษณะทางบุคลิกภาพที่ชัดเจนและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
การศึกษาครั้งนี้พยายามทำการทดสอบว่าระดับการพึ่งพากันระหว่างสมาชิกทีมเป็นปัจจัยเชิงเงื่อนไขที่มีผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมทางวัฒนธรรมของทีม (มิติวัฒนธรรมความเป็นกลุ่มและระยะห่างอำนาจสูงของฮอฟสตีด) และผลการปฏิบัติงานของทีมอย่างไร บนพื้นฐานแนวคิดทฤษฎีปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์ และทฤษฎีเชิงสถานการณ์ แบบจำลองเชิงทฤษฎีได้ถูกทดสอบโดยใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากพนักงานในสำนักงานบัญชีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การวิเคราะห์แบบจำลองโครงสร้างด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดบางส่วนจากข้อมูลสำนักงานบัญชี 85 แห่ง (ทีม) ประกอบด้วยสมาชิกทีมรวม 500 คน ชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมทางวัฒนธรรมความเป็นกลุ่มส่งผลทางบวกต่อผลการปฏิบัติงานของทีมที่มีระดับการพึ่งพากันระหว่างสมาชิกทีมสูง อย่างไรก็ตาม ค่านิยมทางวัฒนธรรมระยะห่างอำนาจสูงส่งผลทางลบต่อผลการปฏิบัติงานของทีมที่มีระดับการพึ่งพากันระหว่างสมาชิกทีมต่ำ การนำผลการวิจัยไปใช้สำหรับผู้บริหารและนักวิจัยทีมได้ถูกอภิปรายไว้ในส่วนของการสรุป
บทความนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมกับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปและถนอมสัตว์น้ำของไทย ผลการวิเคราะห์สถิติแบบถดถอยโดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 101 สถานประกอบการที่ได้จากการสำรวจทางไปรษณีย์พบว่า คลัสเตอร์ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนานวัตกรรม สถานประกอบการในคลัสเตอร์จะสร้างความได้เปรียบในการพัฒนานวัตกรรมได้ก็ต่อเมี่อมีการลงทุนใน R&D เพื่อดูดซับความรู้ที่มีการไหลเวียนในคลัสเตอร์ และมีการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าโลกเพื่อรับเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ คลัสเตอร์ BMR เป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบพื้นที่อื่นๆ เพราะมีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมและสถาบันวิจัยจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ แต่การจะได้ประโยชน์ในเชิงนวัตกรรมจากข้อได้เปรียบดังกล่าวนั้น สถานประกอบการต้องลงทุนใน R&D เพื่อดูดซับความรู้ และเชื่อมโยงกับผู้ซื้อในต่างประเทศผ่านระบบ OEM ด้วย
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายกำไรมีความก้าวหน้าอย่างมากในตลาดตราสารทุนแต่ในตลาดตราสารหนี้กลับมีการศึกษาเรื่องดังกล่าวค่อนข้างจำกัด ผู้วิจัยจึงศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่มีต่ออันดับเครดิตในตลาดตราสารหนี้ของแบบแผนการรายงานกำไรที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างต่อเนื่องของบริษัทจดทะเบียน การศึกษาครั้งนี้มุ่งทดสอบว่า การปรับเพิ่ม (ลด) อันดับเครดิตส่วนเพิ่มมีความสัมพันธ์กับแบบแผนการรายงานกำไรที่เพิ่มขึ้น (ลดลง) อย่างต่อเนื่องของบริษัทหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังทดสอบว่า ความไม่แน่นอนของกำไรในอนาคตและปัจจัยพื้นฐานของบริษัทสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตส่วนเพิ่มได้หรือไม่ ผลการวิจัยพบว่า แบบแผนการรายงานกำไรที่เพิ่มขึ้น (ลดลง) อย่างต่อเนื่องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความน่าจะเป็นของการปรับเพิ่ม (ลด) อันดับเครดิต ผลวิจัยดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะควบคุมผลกระทบของความแปรปรวนของกำไรในอนาคตและปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่า ความแปรปรวนของกำไรในอนาคตและปัจจัยพื้นฐานนั้นสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตเพิ่มเติมได้ กล่าวโดยสรุปแล้ว การศึกษาฉบับนี้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ของความสำคัญของแบบแผนการเพิ่มขึ้นและลดลงของกำไรที่มีต่อตลาดตราสารหนี้
การประเมินแบรนด์และองค์กรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้บริหารตระหนักถึงความสามารถขององค์กรในปัจจุบันและวางแผนปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรเกิดใหม่ (Start-ups) และองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งและเติบโตในตลาดได้อย่างยั่งยืน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและประมวลองค์ความรู้จากงานวิจัยในอดีตเกี่ยวกับการสร้างและประเมินความเข้มแข็งของแบรนด์ แนวคิดการเติบโตและพัฒนาการขององค์กร (Organization Growth and Development) แนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ตลอดจนแนวคิดปัจจัยสู่ความสำเร็จขององค์กรต่างๆ เช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) เป็นต้น พร้อมทั้งนำเสนอแบบจำลองที่แสดงถึงองค์ประกอบสำคัญสำหรับการประเมินแบรนด์และองค์กร กระบวนการและปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจที่สามารถปรับใช้ได้กับทั้งองค์กรที่มีขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรธุรกิจไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเติบโตในตลาดได้อย่างยั่งยืน