สื่อดิจิทัลขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นโอกาสที่ดีของภาคธุรกิจในประเทศไทยที่จะได้ประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน อันจะนำไปสู่การสร้างการจดจำตราสินค้า และทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดมีความสะดวกและรวดเร็วสามารถเข้าถึงลูกค้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบความสัมพันธ์และผลกระทบของกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลที่มีต่อผลการดำเนินงานทางการตลาดของธุรกิจบริการในประเทศไทย โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างธุรกิจบริการในประเทศไทยจำนวน 107 แห่ง โดยใช้เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และทดสอบสมมุติฐานโดยการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลด้านความสามารถในการสร้างเนื้อหาทางการตลาดและด้านการจัดการชื่อเสียงองค์กรออนไลน์มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับผลการดำเนินงานทางการตลาด 2) กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลด้านการจัดการชื่อเสียงองค์กรออนไลน์มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับการตระหนักรู้เกี่ยวกับตราสินค้า 3) กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลด้านความสามารถในการสร้างเนื้อหาทางการตลาดและด้านการจัดการชื่อเสียงองค์กรออนไลน์มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย 4) การตระหนักรู้ถึงตราสินค้ามีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับผลการดำเนินงานทางการตลาด และ 5) ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับผลการดำเนินงานทางการตลาด ผลการวิจัยครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักวิชาการในด้านการขยายและต่อยอดองค์ความรู้ในศาสตร์การตลาดสมัยใหม่ อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารธุรกิจบริการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลด้านการบริหารจัดการเนื้อหาทางการตลาดด้วยเนื้อหาที่สร้างสรรค์ น่าสนใจ น่าติดตาม และมีความทันสมัยอยู่เสมอ และควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลด้านการจัดการชื่อเสียงองค์กรออนไลน์เพื่อช่วยลดปัญหาข้อร้องเรียนในเชิงลบและช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจที่ดีต่อธุรกิจ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงตราสินค้าของธุรกิจผ่านสัญลักษณ์ โลโก้ ที่โดดเด่น แตกต่าง เพื่อช่วยเพิ่มการจดจำให้มากขึ้น รวมไปถึงมีการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้มีความแข็งแกร่งยาวนานซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจบริการในยุคดิจิทัลต่อไป
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ทางสื่อสังคม (Social Media Customer Relationship Management: SM CRM) ที่นำไปสู่การสร้างผลประโยชน์ทางการเงินแก่ธุรกิจ SM CRM เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกนำมาใช้ยุคสื่อสังคม โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสังคมในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า จากการศึกษาที่ผ่านมายืนยันชัดเจนว่า การใช้ SM CRM ของธุรกิจมีความสัมพันธ์ต่อผลประโยชน์ทางการเงิน แต่ยังมีการศึกษาไม่มากที่นำต้นทุนธุรกรรมมาเป็นตัวแปรสื่อกลาง (Mediator variable) ระหว่างความสัมพันธ์ดังกล่าว ผู้วิจัยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทำการสรุป วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการใช้ SM CRM และผลประโยชน์ทางการเงิน สำหรับการใช้ SM CRM จะประสบความสำเร็จนั้น ความเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งเพราะมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง เพราะระบบการแลกเปลี่ยนหรือการซื้อขายที่มีความเป็นธรรมมีคุณภาพที่ยั่งยืน และสามารถเพิ่มอานุภาพของกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ อีกทั้งการรับรู้ความเป็นธรรมของพนักงานและลูกค้ามีผลกระทบต่อทัศนคติ การตัดสินใจ รวบถึงพฤติกรรม ที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ ธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจและความสำคัญในการสร้างการรับรู้ความเป็นธรรมแก่พนักงานและลูกค้า การสร้างความเป็นธรรมถูกนำมาเป็นตัวแปรกำกับ (Moderator variable) เพื่ออธิบายถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ SM CRM และผลประโยชน์ทางการเงินของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับการสร้างความเป็นธรรมแก่พนักงานและลูกค้า การศึกษาครั้งนี้ช่วยสร้างความชัดเจนของรูปแบบการบริหารจัดการกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ทางสื่อสังคมที่มีการสร้างความเป็นธรรม และสามารถลดต้นทุนธุรกรรมนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการเงินของธุรกิจ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการระบุถึงโอกาสและความท้าทายของธุรกิจที่ปรึกษาของธุรกิจเกิดใหม่เฉพาะประเภทอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย การวิจัยการเก็บข้อมูลครั้งเดียวเป็นวิจัยเชิงคุณภาพโดยผู้ถูกการสัมภาษณ์คือ ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งบริษัทเกิดใหม่ประเภทอีคอมเมิร์ซ การศึกษามุ่งไปที่สภาพของปัญหาที่บริษัทเผชิญอยู่และจัดกลุ่มของปัญหาโดยการแยกประเภทตามปัจจัย นอกจากนี้วิธีการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่ยังเป็นคำถามอยู่ ส่วนกลุ่มของปัจจัยได้แก่ ปัจจัยด้านองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา ด้านบุคลิกภาพของผู้ประกอบการ ด้านสมรรถนะขององค์กรและด้านทรัพยากรขององค์กรที่มีจำกัด จากการศึกษาพบว่า ปัญหาทั้งภายในและภายนอกองค์กรเกิดใหม่นำไปสู่การจ้างที่ปรึกษา จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทที่ปรึกษานำเสนอแนวทางที่จะแก้ปัญหาโดยใช้การทำงานเป็นทีมและการตลาดดิจิทัล บริษัทเกิดใหม่ส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาและได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันทางการตลาดดิจิตอลเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งบริษัทมีบุคลิกภาพที่ดีและมีความสามารถในการแก้ปัญหา รวมถึงมีจุดเด่นคือ สิทธิบัตรและตำแหน่งเชิงกายภาพที่แข่งขันได้ก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอในการแข่งขันและแก้ปัญหา ส่วนใหญ่บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้จ้างบริษัทที่ปรึกษาในด้านเทคนิคเนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนั้นเอง นอกจากนี้บริษัทชอบที่จะจ่ายค่าปรึกษาหลังจากโครงการเสร็จสมบูรณ์ ในส่วนสุดท้ายของบทความจะบอกถึงความแตกต่างระหว่างบริษัทที่พึงพอใจต่อบริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแบ่งปันความรู้ ระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ 2) เปรียบเทียบผลกระทบของความสามารถในการแบ่งปันความรู้ที่มีต่อคุณภาพในการให้บริการ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ จำนวน 270 สาขา และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 318 สาขา โดยมีผู้จัดการสาขาเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิตเชิงพรรณา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และการทดสอบสมมติฐานด้วยการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าความสามารถในการแบ่งปันความรู้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการให้บริการระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่แตกต่างกัน และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแบ่งปันความรู้ได้แก่การจัดการความหลากหลาย โครงสร้างองค์การแบบยืดหยุ่น การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และวัฒนธรรมองค์การ ในขณะที่ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแบ่งปันความรู้ระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่แตกต่างกัน
องค์กรไม่แสวงหากำไร (Nonprofit Organization) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพันธกิจทางสังคม (Social Mission) โดยพึ่งพาทุนทรัพย์จากการสนับสนุนของภาครัฐและ/หรือการบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชน องค์กรไม่แสวงหากำไรจำเป็นต้องพยายามจัดหาทุนทรัพย์ เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามพันธกิจและอยู่ได้อย่างยั่งยืน วิธีการหนึ่งในการจัดหาทุนทรัพย์คือ การระดมเงินทุนจากการบริจาค งานวิจัยเรื่องนี้ นำแนวคิดทางการตลาด คือ การมีส่วนร่วม (Engagement) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการตลาดความสัมพันธ์ (Relationship Marketing) เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ ชุมชนแบรนด์สินค้า/บริการ บริษัท และชุมชนแบรนด์ เป็นต้น มาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริจาคกับโครงการการระดมทุนเพื่อการกุศล วัตถุประสงค์ของงานวิจัย คือ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในโครงการระดมทุนเพื่อการกุศล ซึ่งได้แก่ ความไว้วางใจ (Trust) โดยมีปัจจัยอีก 3 ปัจจัย คือ การสื่อสาร (Communication) ชื่อเสียง (Reputation) และความโปร่งใส (Transparency) ที่ส่งผลต่อความไว้วางใจ ในการทดสอบสมมติฐาน งานวิจัยเก็บข้อมูลจากผู้บริจาคเงินให้แก่โครงการวิ่ง “ก้าวคนละก้าว” โครงการ 2 ริเริ่มและนำทีมโดย “คุณอาทิวราห์ คงมาลัย” ที่รู้จักกันในนาม “คุณตูน บอดี้สแลม” วิเคราะห์ข้อมูลด้วย PLS-SEM ผลการวิเคราะห์ข้อมูลยืนยันสมมติฐาน และสามารถอธิบายความไว้วางใจและการมีส่วนร่วมได้สูงถึง 73.4% และ 28.0% ตามลำดับ ผลวิจัยสามารถนำไปเป็นแนวทางในออกแบบกิจกรรมการระดมทุนและการบริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร กล่าวคือ กิจกรรมระดมทุนควรเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคเป้าหมายมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับโครงการ องค์กรควรมีการสื่อสารข้อมูลผลการดำเนินงาน สถานะทางการเงิน การใช้จ่ายเงินบริจาคและข้อมูลอื่นๆ ขององค์กร การสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ส่งผลต่อการรับรู้ถึงความโปร่งใสและชื่อเสียงขององค์กร ซึ่งจะส่งผลดีต่อความไว้วางใจและการมีส่วนร่วมกับองค์กร งานวิจัยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในความพยายามแรกๆ ที่นำแนวคิดการตลาดมาศึกษาในบริบทองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย และตอบสนองต่อความเห็นของ Marketing Science Institute ที่เรียกร้องให้มีการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมมากขึ้น
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อสืบค้นว่าเรื่องสำคัญในการตรวจสอบในรายงานการสอบบัญชีแบบใหม่ให้ข้อมูลที่มีคุณค่าแก่นักลงทุนหรือไม่ การศึกษาใช้ราคาหุ้นในการวัดการตอบสนองของนักลงทุนเมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ (เรื่องสำคัญในการตรวจสอบในรายงานผู้สอบบัญชี) ราคาหุ้นประกอบด้วย 3 ระยะเวลา คือ ราคาหุ้นถัวเฉลี่ยก่อนวันที่ในรายงานการสอบบัญชี 7 วัน ณ วันที่ในรายงานการสอบบัญชี และราคาหุ้นถัวเฉลี่ยหลังวันที่ในรายงานการสอบบัญชี 7 วัน ตัวแปรอิสระประกอบด้วย เรื่องสำคัญในการตรวจสอบในรายงานผู้สอบบัญชี และตัวแปรควบคุม (ขนาดของกิจการ อัตราส่วนนโยบายทางการเงิน อัตราส่วนสภาพคล่อง และกำไรต่อหุ้น) ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ หุ้นสามัญในกลุ่ม SET 100 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของตลาดหลักทรัพย์เกิดใหม่ การวิเคราะห์ทางสถิติ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ตัวแปรเดียว สหสัมพันธ์ และพหุตัวแปร ผลการศึกษาพบว่าเรื่องสำคัญในการตรวจสอบในรายงานการสอบบัญชีให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยแก่นักลงทุน อย่างไรก็ตามอัตราส่วนทางการเงินมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับราคาหุ้นในเชิงบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรต่อหุ้น การศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าเรื่องสำคัญมีการตรวจสอบในรายงานการสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งค่าเผื่อสำรองหนี้สงสัยจะสูญมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญเชิงบวกกับราคาหุ้น