วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงานและแรงจูงใจของคน เจเนอเรชัน Y และคนเจเนอเรชัน Z ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลศึกษา จำนวนรวม 390 ตัวอย่าง การศึกษาใช้สถิติเชิงบรรยายและสถิติเชิงอนุมานรวมทั้ง การใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงานและแรงจูงใจของทั้งสองเจเนอเรชัน โดยรวมมีความคล้ายกันในหลายด้าน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เจเนอเรชัน Z ให้ความสำคัญมากกว่าเจเนอเรชัน Y อย่างมีนัยสำคัญ ในประเด็นของความพึงพอใจในการทำงานที่ได้ใช้ความคิดและได้สมดุลชีวิต และปัจจัยจูงใจที่เป็นการกระทำเพื่อความสุขของตนเอง ซึ่งผลจากการศึกษาสามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้องค์กรได้ใช้ในการเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน และการเสริมสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมสำหรับคนเจเนอเรชัน นี้ นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรบุคคล
ศักยภาพทางด้านนวัตกรรมระดับประเทศ เป็นการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและเสนอแนวทางในการเพิ่มจำนวนนวัตกรรมของประเทศไทย ที่ดัดแปลงหลักคิดและวิธีการวิจัยจาก Furman Porter และ Stern (2002) เพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย โดยมีจำนวนสิทธิบัตรระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์ในการวัดนวัตกรรม ซึ่งรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิของปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ถึง 2016 และสร้างแบบจำลองเศรษฐมิติในรูปแบบสมการถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มจำนวนนวัตกรรมของประเทศคือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การเปิดกว้างด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์และนโยบายที่สอดรับกับการเพิ่มศักยภาพทางนวัตกรรม โดยเฉพาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ที่ประเทศไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ด้วยตนเองและมีความยั่งยืนทางด้านการลงทุน โดยสร้างนวัตกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และบูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถซึ่งช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
การรายงานผลการศึกษาตัวแปรสร้างระดับที่สองของ PLS-SEM ต่างจากรายงานที่มีเพียงตัวแปรสร้างระดับที่หนึ่ง และวิธีรายงานยังต่างตามประเภทแบบจำลอง วรรณกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่วิธีสร้างและวิธีประเมินไม่ได้แสดงรายละเอียดวิธีการรายงานมากนักโดยเฉพาะเกี่ยวกับแบบจำลองคอมโพสิต การศึกษามีวัตถุประสงค์เปรียบเทียบแบบจำลองสองประเภท 1) Reflective-reflective Type และวิธีดัชนีวัดซ้ำโดยใช้อัลกอริทึม Mode A Consistent และ Factor 2) แบบจำลอง Reflective-formative ใช้วิธีวิเคราะห์สองครั้ง (The Two-stage Approach) โดยใช้อัลกอริทึม Composite และ Mode B ผลการศึกษาจากแบบจำลองโครงสร้างของสองแบบจำลองไม่ต่างกันมาก แต่แบบจำลองการวัดที่ใช้วิธีดัชนีวัดซ้ำมีปัญหาความเที่ยงตรงเชิงจำแนก (Discriminant Validity) ระหว่างตัวแปรสร้างระดับที่หนึ่งและสอง ทำให้โปรแกรม ADANCO ไม่แสดงผลคุณภาพแบบจำลองโดยรวม (Model Fit) ในขณะที่วิธีวิเคราะห์สองครั้งไม่พบปัญหาดังกล่าวทำให้ได้ค่าพารามิเตอร์ครบทั้งคุณภาพแบบจำลองโดยรวม แบบจำลองการวัด และแบบจำลองโครงสร้าง
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรระหว่างอิทธิพลของกลุ่มอ้างอิง การส่งข่าวสารในทางบวกแบบปากต่อปากทางอิเล็กทรอนิกส์ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัย เชิงปริมาณโดยใช้วิธีการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 307 คน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและการวิเคราะห์แบบจำลองสมการเชิงโครงสร้าง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มอ้างอิงที่กำหนดบรรทัดฐาน อาทิสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนมีอิทธิพลในทางบวกต่อทัศนคติและการตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ในขณะที่กลุ่มอ้างอิงเชิงเปรียบเทียบ อาทิ ผู้มีชื่อเสียง ไม่ส่งผลต่อการตอบสนองของผู้บริโภคต่อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การสื่อสารแบบปากต่อปากทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทการรีวิวสินค้าเป็นการเฉพาะ ประเภทการแนะนำผ่านสื่อสังคม และประเภทการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์อื่น ๆ ส่งผลทางบวกต่อทัศนคติของผู้บริโภคต่อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อในที่สุด การศึกษาในครั้งนี้เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างพฤติกรรมผู้บริโภค การตลาดดิจิทัล และการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้อิทธิพลของสังคมในบริบทการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยังมีอยู่น้อยมาก นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังช่วยให้บริษัทที่ดำเนินการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมสามารถวางแผนกิจกรรมทางการตลาด ด้วยการมุ่งเน้นการแนะนำสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตระหว่างผู้บริโภคด้วยกัน